ลักษณะภูมิประเทศมาเลเซีย
1. ข้อมูลทั่วไป
มาเลเซียตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย มีพื้นที่ประมาณ 330,252 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน รวม 13 รัฐ ส่วนแรกอยู่บริเวณแหลมมลายูติดกับชายแดนภาคใต้ของไทย มีพื้นที่ 131,805 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ประกอบด้วยรัฐต่างๆ จำนวน 11 รัฐ คือ ยะโฮร์ (Johore) เคดาห์ (Kedah) กลันตัน (Kelantan) มะละกา (Malacca) เนกริ เซมบิเลิน (Negeri Sembilan) ปาหัง (Pahang) เปรัค (Perak) เปอร์ลิส (Perlis) ปีนัง (Penang) สลังงอ (Selangor) และตรังกานู (Terengganu) และอีกส่วนหนึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะบอร์เนียว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเกาะกะลิมันตัน (Kalimantan) มีอาณาเขตติดกับอินโดนีเซียและบรูไน ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาราวัค (Sarawak) มีพื้นที่ 124,450 ตารางกิโลเมตร และซาบาห์ (Sabah) มีพื้นที่ 73,997 ตารางกิโลเมตร ทั้ง 2 ส่วน ห่างจากกันประมาณ 650 กิโลเมตร โดยมีทะเลจีนใต้อยู่ระหว่างกลาง จำนวนประชากรรวมทั้งประเทศ ณ เดือนกรกฎาคม 2550 ประมาณ 27.2 ล้านคน
1.1 ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
- ภูมิประเทศบนแหลมมลายู เป็นหนองบึงตามชายฝั่งและพื้นดินจะสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นแนวเขาด้านในของประเทศ โดยมีพื้นที่ราบอยู่ระหว่างแม่น้ำสายต่างๆ พื้นดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์นัก แต่เหมาะสำหรับปลูกยางพาราและต้นปาล์ม ด้านในของประเทศจะมีพืชพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นตามบริเวณป่าดงดิบ โดยเฉพาะในแถบภูเขาซึ่งมีความสูงระหว่าง 150-2,207 เมตรเหนือระดับ น้ำทะเล มีความยาวของชายฝั่งจากเหนือ (ติดชายแดนไทย) ถึงปลายแหลมประมาณ 804 กิโลเมตร ทางชายฝั่งตะวันตกมีช่องแคบมะละกาแยกออกจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ความกว้างของแหลมส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 330 กิโลเมตร
- ภูมิประเทศบนเกาะบอร์เนียว เป็นพื้นที่ราบตามชายฝั่งและมีภูเขาเรียงรายอยู่ด้านใน โดยมีความสูงตั้งแต่ 300-2,440 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือของเกาะเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำคัญ ความกว้างจากชายฝั่งทะเลถึงอาณาเขตที่ติดกับกะลิมันตันของอินโดนีเซียประมาณ 270 กิโลเมตร และชายฝั่งยาว 1,120 กิโลเมตร ส่วนอาณาเขตที่ติดต่อกับกะลิมันตันมีความยาว 1,450 กิโลเมตร
มาเลเซียมีการปกครองโดยระบบสหพันธรัฐ เมืองหลวงคือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และรัฐต่างๆ อีก 13 รัฐ นอกจากนี้ยังมีเขตปกครองพิเศษอีก 3 เขต ดังนี้
1.1.1 รัฐของมาเลเซียที่ตั้งอยู่บริเวณแหลมมลายู
- กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) หมายถึง "ดินที่ไหลมาบรรจบกัน (Muddy Confluence)" เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในรัฐสลังงอ (Selangor) พื้นที่ประมาณ 0.2 พันตร.กม. ประชากร 1.5 ล้านคน
- เปอร์ลิส (Perlis) มีพื้นที่ประมาณ 0.8 พันตร.กม. ประชากร 2 แสนคน อยู่ทางเหนือสุดของมาเลเซีย มีอาณาเขตติดกับชายแดนไทยด้านจังหวัดสงขลาและสตูล รัฐเปอร์ลิส มี Kangar เป็นเมืองหลวง ส่วนเมือง Arau เป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และองค์ประมุขของรัฐ Kuala Perlis เป็นเมืองทางเข้าออกสู่เกาะลังกาวี (Langkawi Island) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและประมงที่น่าสนใจ ปะดังเบซาร์ (Padand Besar) เป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศไทย เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุด ผลผลิตสำคัญของรัฐ ได้แก่ ข้าว ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากไม้ เป็นต้น
- เคดาห์ (Kedah) พื้นที่ประมาณ 9.4 พันตร.กม. เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของมาเลเซีย อีกทั้งยังมีทิวทัศน์สวยงาม มีประชากร 1.6 ล้านคน รัฐเคดาห์ เป็นหนึ่งในบรรดารัฐเก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีการขุดพบโบราณ วัตถุตามสถานที่ต่างๆ เช่น Bujang Valley, Gunung Jerai Foothill และภูเขา Alor Setar ที่แสดงถึงอิทธิพลของฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ 4 Alor Setar เป็นเมืองหลวงของรัฐที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ ซึ่งยังคงสภาพเดิม แข็งแรง พร้อมโบราณวัตถุต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสถานที่เกิดของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ผลผลิตสำคัญของรัฐนี้ ได้แก่ สินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น